กองทุนรวม คือการลงทุนที่เริ่มต้นได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะมี “ผู้จัดการกองทุน” คอยดูแลให้เงินเรางอกเงย ส่วนตัวเราก็คอยติดตามผลไปเรื่อย ๆ ซึ่งก่อนจะตัดสินใจซื้อหรือเลือกกองทุนไหนดี เราก็ควรศึกษาข้อมูลก่อนประมาณหนึ่ง แต่เอกสารต่างๆ ก็มีมากมาย ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี
นี่คือ 5 ข้อที่เราควรรู้ก่อนซื้อกองทุนรวม
1. ดูนโยบายการลงทุนเริ่มจากเข้าไปที่เว็บไซต์ของ บลจ.นั้น ๆ หรือเสิร์ชชื่อกองทุนใน Google ก็จะได้เห็นหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปการลงทุน (Fact Sheet) แล้วอ่านนโยบายการลงทุนให้เข้าใจว่า กองทุนนั้นจะนำเงินไปลงทุนที่ไหนบ้าง ข้อควรระวังคือกองทุนรวมตราสารหนี้มีความเสี่ยงหลายระดับ ตั้งแต่ต่ำ-สูง ให้สังเกตดีๆ ว่าเป็นของรัฐหรือเอกชน มีอันดับความน่าเชื่ออย่างไร
2. เช็กระดับความเสี่ยง และความผันผวน ระดับความเสี่ยงของกองทุน (Risk Spectrum) มีทั้งหมด 8 เลเวล ไล่ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ-สูง ลองเช็กให้ดีว่ากองทุนที่เราสนใจมีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด เรารับได้แค่ไหน และอีกจุดหนึ่งที่อยากให้ดูคือ “ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ” คือกองทุนนั้นมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์มากน้อยแค่ไหน ยิ่งถ้ามี “ค่าความผันผวนของผลการดำเนินงาน (SD)” สูง แปลว่ากองทุนนั้นมีความผันผวนสูง ซึ่งบางกองทุนอาจมีตัวเลขความเสี่ยงต่ำ เช่น ระดับ 4 แต่มีค่า SD สูง ก็แปลว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่
3. รู้จักสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุน ในหนังสือชี้ชวนฯ จะมีอันดับสินทรัพย์ 5 ตัวแรกที่กองทุนเลือกลงทุน เพื่อให้เราเห็นแนวโน้มสินทรัพย์ของกองทุน ว่าเลือกลงทุนสไตล์หุ้นเล็กหรือหุ้นใหญ่ เน้นธุรกิจอะไร สิ่งที่เราต้องสังเกตคือข้อมูลนั้นอัพเดต ณ วันที่เท่าไหร่ ซึ่งมักจะเป็นข้อมูลย้อนหลัง 1 เดือน แต่เราแค่ดูเป็นแนวทางเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องสนใจมากนัก เพราะกองทุนจะมีการปรับพอร์ตอยู่เรื่อยๆ ยกเว้นบางกองทุนที่เน้นถือระยะยาว
4. ดูผลตอบแทนย้อนหลัง ควรดูผลตอบแทนกองทุนย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี และอย่าดูเฉพาะปีที่ผลตอบแทนดีๆ เพราะกองทุนมักจะมีทั้งขาดทุนและกำไร เราต้องดูว่าปีที่ขาดทุนนั้นตัวเลขชนะ Benchmark ของตลาดได้หรือไม่ บางครั้งปีนั้นๆ กองทุนติดลบก็จริง แต่ในตลาดขาดทุนมากกว่านั้นเสียอีก แปลว่ากองทุนที่เราสนใจก็มีสถานะดีใช้ได้
5.อย่ามองข้ามค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมมีผลกระทบกับผลตอบแทนที่เราจะได้รับ เพราะมันคือต้นทุนระยะยาว โดยค่าธรรมเนียมจะถูกหักจากยอด NAV รายวัน และจะมีค่าธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย จะถูกหักทันทีที่ซื้อเพื่อนำไปซื้อหลักทรัพย์ให้เรา และเป็นค่าการตลาดนั่นเอง ให้พิจารณาค่าธรรมเนียมที่เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด ถ้าเรารู้สึกว่าแพงไป ไม่คุ้มค่า ก็อาจพิจารณาเลือกซื้อกองทุนอื่นแทน
สรุปต้องเรียนรู้หาข้อมูลกองทุนที่เราสนใจให้มาก ๆ เรียนรู้คำศัพท์เทคนิคการลงทุนที่ซับซ้อน สุดท้ายการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน